วิกิพจนานุกรม:เกี่ยวกับภาษาไทดำ

ภาษาไทดำ ใช้อักษรไทเวียดในช่วง U+AA80 ถึง U+AADF ไม่เขียนด้วยอักษรลาวของลาว หรืออักษรละตินของเวียดนาม เพราะเป็นเพียงการถอดอักษร

พยัญชนะต้นแบ่งเป็น 2 พวกคือ อักษรต่ำและอักษรสูง คู่หนึ่งมีเสียงพยัญชนะเดียวกัน เมื่อผันวรรณยุกต์จะได้ถึง 6 เสียง พยัญชนะต้นอาจควบกล้ำด้วย ꪫ ซึ่งจะมีบางกรณีที่กำกวมกับพยัญชนะสะกด ꪫ

พยัญชนะที่ไม่ใช้ในภาษาไทดำได้แก่ ꪂ, ꪃ, ꪌ, ꪍ, ꪞ, ꪟ ซึ่งเป็นของภาษาไทขาว (หรือไทด่อน) ส่วน ꪆ, ꪇ, ꪦ, ꪧ มีไว้ใช้กับคำยืมภาษาเวียดนาม (เช่นชื่อสถานที่)

พยัญชนะที่ใช้เป็นพยัญชนะสะกดได้แก่ อักษรต่ำ ꪀ, ꪒ, ꪚ และอักษรสูง ꪉ, ꪙ, ꪣ, ꪥ, ꪫ ไม่ใช้ตัวอื่นนอกจากนี้ พยัญชนะสะกด ꪀ สามารถออกเสียง /-k/ หรือ /-ʔ/ ก็ได้

ป้อนสระเรียงตามลักษณะที่ปรากฏ เหมือนอย่างวิธีป้อนภาษาไทยหรือภาษาลาว เสียงสระหนึ่งเสียงอาจต้องใช้รูปสระหลายรูปประกอบกัน

เดิมภาษาไทดำไม่ใส่วรรณยุกต์ แต่ปัจจุบันมีวรรณยุกต์มีสองแบบ แบบแรกใช้วางไว้เหนือพยัญชนะต้น เรียกว่า ไม้เอก ꪿ ไม้โท ꫁ ซึ่งเกิดขึ้นในลาว และแบบที่สองใช้วางไว้เสมอบรรทัดที่ท้ายพยางค์ เรียกว่า ไม้หนึ่ง ꫀ ไม้สอง ꫂ ซึ่งเกิดขึ้นในเวียดนาม ทั้งสองแบบก็ยังมีใช้อยู่ วิกิพจนานุกรมให้ไม้เอก-ไม้โทเป็นแบบหลัก และไม้หนึ่ง-ไม้สองเป็นแบบอื่น

คำประสมภาษาไทดำเขียนติดกันโดยไม่เว้นวรรค

รากศัพท์ของภาษาไทดำมีสองพวก คือพวกที่มาจากภาษาไทดั้งเดิม (ซึ่งบางคำมาจากภาษาจีนอีกทอดหนึ่ง) และพวกที่ยืมมาจากภาษาเวียดนาม ภาษาไทดำไม่ได้รับอิทธิพลจากภาษาบาลี สันสกฤต และเขมร จึงไม่มีคำยืมจากภาษาดังกล่าว